Article
03.11.2023
เป้าหมายของโครงการ 4 ด้าน
ปกติแล้ว เป้าหมายของโครงการก่อสร้างใด ๆ ก็ตาม หากแบ่งแล้วจะมีอยู่ 4 ด้าน ได้แก่ ขอบเขตที่ต้องการ (Scope), คุณภาพของขอบเขตนั้น ๆ (Quality), เวลาที่ต้องใช้เพื่อสร้างขอบเขตให้มีคุณภาพตามที่กำหนด (Time) และงบประมาณหรือต้นทุนที่ตั้งไว้ (Cost)
โดย Scope และ Quality เป็นสิ่งที่เราต้องการให้มีมากที่สุด ส่วน Time และ Cost เป็นสิ่งที่เราต้องการจำกัดหรือใช้น้อยที่สุด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการนั่นเอง ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่เรากำหนดเป้าหมาย จะต้องกำหนดให้ครบทั้ง 4 ด้านที่กล่าวมา เช่นว่า เมื่อจะซื้อของ ก็จะต้องกำหนดว่าเราต้องการสิ่งใด คุณภาพเป็นอย่างไร จะต้องได้มาเมื่อไหร่ และเงื่อนไขทั้งหมดที่ว่านี้ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าใด
ทั้งนี้ เป้าหมายทั้ง 4 ด้าน มีความสัมพันธ์กันอยู่ ไม่ได้อิสระต่อกัน เมื่อนำมาเขียนเลียนแบบสมการแล้ว จะเขียนได้ว่า Scope x Quality = Time x Cost ซึ่งสามารถยกตัวอย่างเพื่อประกอบการทำความเข้าใจได้ ดังนี้
- ถ้า Cost ของโครงการจะเพิ่มขึ้น (ดูสมการ) ก็จะต้องมาจาก Scope และ/หรือ Quality ปรับเพิ่มขึ้น และ/หรือต้องการลด Time ลง ซึ่งประเด็น Scope/Quality ที่เพิ่มขึ้น ก็อาจมาจากแบบและรายการประกอบแบบ (แม่แบบ) ตกหล่นตั้งแต่แรก หรือมีการปรับเปลี่ยนความต้องการใหม่ในระหว่างการก่อสร้าง ฯลฯ
- ถ้าต้องการลดระยะเวลาหรือ Time ของโครงการลง ก็อาจต้องลด Scope และ/หรือลด Quality และ/หรือเสีย Cost ที่สูงขึ้น
- ถ้า Quality ของงานลดลง ก็อาจเป็นผลเนื่องมาจากการเร่ง Time ให้เร็วขึ้น และ/หรือลดต้นทุนลง และ/หรือเพิ่ม Scope มากขึ้น
- ถ้าเราต้องการเปรียบเทียบ Cost หรือราคาค่าก่อสร้างจากผู้รับจ้างที่เสนอมาแต่ละราย จึงต้อง Fix Scope, Fix Quality และ Fix Time ให้นิ่งเสียก่อน อันเป็นที่มาของการจัดทำข้อกำหนดในการว่าจ้าง หรือ TOR (Terms of Reference) ให้แต่ละรายใช้อ้างอิงเป็นกติกา
สรุปได้ว่า เป้าหมายทั้ง 4 ด้านนี้ มีความสัมพันธ์กันอยู่ในลักษณะ “ได้อย่าง เสียอย่าง (หรือหลายอย่าง)” ถ้าต้องการอย่างหนึ่งเพิ่มขึ้น ก็อาจต้องเสียอีกอย่างหรือหลายอย่างไป ฉะนั้น ในการบริหารโครงการก่อสร้าง นอกจากผู้บริหารจะต้องกำหนดเป้าหมายให้ครบและสมเหตุสมผลตั้งแต่แรกแล้ว ยังต้องคอยตรวจเช็กและสร้างสมดุลของเป้าหมายทั้ง 4 ด้านนี้อยู่เสมอ เช่น ถ้าปรากฏว่าค่าก่อสร้างเริ่มบานปลาย ทางแก้ไขก็อาจทำได้ด้วยการ Value Engineering (VE) เป็นต้นว่าตัด Scope หรือ Quality ที่ไม่จำเป็นออกไป จน Cost อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้