Article
28.03.2024
ความจำเป็นในการควบคุมงานก่อสร้าง
ในการว่าจ้างผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการใด ๆ ก็ตาม ผู้ว่าจ้างย่อมจะต้องกำหนดเงื่อนไขของผลลัพธ์ที่ต้องการ ทั้งในด้านขอบเขต (Scope) คุณภาพ (Quality) ระยะเวลาการก่อสร้าง (Time) และต้นทุน (Cost) ไว้ในสัญญาจ้างก่อสร้าง ซึ่งมีแบบก่อสร้าง (Drawings) และรายการประกอบแบบ (Specifications) เป็นเอกสารแนบสัญญา ที่กำหนดเงื่อนไขทางด้านเทคนิค
ปัญหาอยู่ที่ว่า ผู้ว่าจ้างจะสบายใจได้อย่างไรว่า งานก่อสร้างที่ผู้ว่าจ้างจะส่งมอบให้นั้น เป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ เพราะเหตุว่า ในการดำเนินธุรกิจใด ๆ ก็ตาม ย่อมเป็นที่ทราบกันดีว่า ผลประโยชน์หลักที่แต่ละฝ่ายต้องการ ก็คือ ผลกำไรสูงที่สุดจากการลงทุน ซึ่งมาจากรายได้สูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หักด้วย ค่าใช้จ่ายต่ำสุดเท่าที่จะเป็นไปได้
การรับจ้างก่อสร้างก็เช่นกัน ผู้รับจ้างย่อมมีความต้องการให้รายได้ค่าก่อสร้างของตนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (จึงเป็นเหตุที่เจ้าของโครงการว่าจ้างที่ปรึกษางานก่อสร้างจัดประมูลหรือประกวดราคา) และต้องการให้ค่าใช้จ่ายของตนต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งความต้องการประการสุดท้ายนี้เอง จึงเป็นที่มาของวิธีการประหยัดค่าใช้จ่าย 2 วิธี ได้แก่
- ประหยัดค่าใช้จ่ายโดยถูกต้อง เช่น ใช้เหล็กเส้นให้เหลือเศษน้อยที่สุด หรือเข้าแบบหล่อคอนกรีตให้ได้ระยะพอดี เพื่อควบคุมการใช้ปริมาณคอนกรีตให้น้อยที่สุด หรือควบคุมปริมาณการใช้น้ำยาทาแบบให้น้อยที่สุด โดยทาให้มีความบางพอเหมาะ
- ประหยัดค่าใช้จ่ายโดยไม่ถูกต้อง เช่น ใช้วัสดุ/อุปกรณ์ที่มีคุณภาพต่ำกว่าที่ผู้ออกแบบกำหนดไว้ (Material) ใช้แรงงานที่ขาดความชำนาญ (Man) ใช้เครื่องจักรที่ด้อยประสิทธิภาพ (Machine) เร่งรัดงานก่อสร้างผิดหลักวิชาการ (Method)
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการประหยัดค่าใช้จ่ายวิธีแรกจะมีแนวคิดที่ถูกต้องก็ตาม แต่หากไม่ได้รับการควบคุมที่ดี ก็อาจสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้งานก่อสร้างไม่เป็นไปตามหลักวิชาการหรือข้อกำหนดของการออกแบบ เช่น หน้าตัดของชิ้นงานเล็กกว่าที่กำหนดไว้ หรือชิ้นงานติดแบบหล่อจากการใช้น้ำยาทาแบบน้อยเกินไป จนทำให้ต้องมีการซ่อมแซมผิวตามมา ส่งผลให้ความทนทานถูกบั่นทอนลงไป
ส่วนการประหยัดค่าใช้จ่ายวิธีที่ 2 นั้น อาจเกิดขึ้นได้กับผู้รับเหมาหรือผู้รับจ้างก่อสร้างบางราย หากไม่ได้มีการควบคุมแล้ว ย่อมสร้างความเสียหายต่อเป้าหมายของโครงการ ได้แก่ Scope, Quality, Time และ Cost ดังที่ได้กล่าวแล้ว
ที่ปรึกษางานก่อสร้างหรือบริษัทรับควบคุมงานก่อสร้างจึงเข้ามามีบทบาท เพื่อควบคุมงานก่อสร้างมิให้เกิดปัญหาจากทั้ง 2 วิธีข้างต้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ที่ปรึกษางานก่อสร้างทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ให้เจ้าของโครงการนั่นเอง
หลายท่านอาจคิดว่า หากผลงานที่ผู้รับจ้างก่อสร้างส่งมอบให้ไม่ได้มาตรฐานหรือขาดคุณภาพ ผู้รับจ้างก็จะต้องรับผิดชอบในการซ่อมแซมแก้ไขให้ถูกต้อง แต่ในความเป็นจริงแล้วมีสิ่งที่ควรทำความเข้าใจ 2 ข้อ ดังต่อไปนี้
| การซ่อมแซมงานให้ได้คุณภาพ มีหลายปัจจัยหลายประการเข้ามาเกี่ยวข้อง
เช่น ทักษะของแรงงาน วัสดุที่ใช้ เทคนิคการติดตั้งวัสดุ การเตรียมผิวเดิม ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า แม้ในขั้นตอนการซ่อมแซม ก็ควรมีการควบคุมให้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ มิเช่นนั้น ปัญหาจะยังคงแฝงอยู่ (Latent Defect) และจะไปปรากฏผลในระหว่างการใช้งาน ดังที่กล่าวถึงในข้อถัดไป [ดูตัวอย่างขั้นตอนการซ่อมแซมคอนกรีตเสริมเหล็กด้านล่าง]
| งานก่อสร้างที่ปิด/กลบ/บดบังไปแล้ว ไม่สามารถทำการตรวจสอบในขณะส่งมอบงานได้
ดังนั้น หากงานที่ถูกปิดหรือกลบหรือบดบังไปแล้ว มีการก่อสร้างที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ก็จะเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาในระหว่างการใช้งาน (Latent Defect) โดยเฉพาะหลังจากหมดการรับประกันผลงานไปแล้ว เช่น
- ดินเกิดการทรุดตัวมากผิดปกติ จากสาเหตุต่าง ๆ เป็นต้นว่า การบดอัดที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้กำจัดวัสดุประเภทอินทรีย์ออกไป ทำให้ในเวลาต่อมา เมื่อวัสดุดังกล่าวสลายตัว จึงเกิดโพรงขึ้น นำมาสู่การทรุดตัวของดินตามมา
- เกิดรอยร้าวตามองค์อาคาร จากหลายสาเหตุ เช่น การวางเหล็กเสริมผิดตำแหน่ง การใช้เหล็กเสริมที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้อาคารรับน้ำหนักไม่ได้ตามที่ออกแบบไว้ การทรุดตัวที่ต่างกัน (Differential Settlement) จึงแสดงผลโดยเกิดรอยร้าวให้เห็น
- คอนกรีตเกิดการแตกเสียหาย (Broken) จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ไม่มีระยะหุ้มของคอนกรีตที่เพียงพอ (Covering) ทำให้อากาศซึมเข้าไปสัมผัสเหล็กเสริมได้ง่าย นำไปสู่การเกิดสนิมดันคอนกรีตจนเกิดการแตกเสียหายตามมา
- อายุการใช้งานลดลง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ อาคารเกิดการเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ ทำให้เจ้าของโครงการต้องเสียค่าบำรุงรักษาอาคารสูง
- เกิดการพังทลายหรืออัตราส่วนความปลอดภัยลดลง ซึ่งประเด็นนี้ มักปรากฏให้เห็นเป็นข่าวอยู่เสมอ
ความเสียหายที่ปรากฏในภายหลังนั้น มักทำการแก้ไขได้ยาก หรืออาจต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงในการแก้ไข เปรียบเสมือนร่างกายของคนเรา หากเกิดปัญหาที่อวัยวะที่อยู่ภายในแล้ว การแก้ไขมักจะเสียค่าใช้จ่ายสูง และอาจมีปัญหาเรื้อรังตามมาอีกด้วย อีกทั้งปัญหาต่างๆ เหล่านี้อาจตกทอดหรือเกิดขึ้นในบรรพชนรุ่นหลังที่ใช้อาคารในอนาคต
อย่างไรก็ดี การประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างถูกวิธีและไม่ถูกวิธี ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นการกล่าวถึงแต่เฉพาะปัญหาที่เกิดมาจากอารมณ์ความต้องการ (เพื่อให้ได้กำไรสูงสุด) นอกจากนี้แล้ว ยังมีปัญหาที่เกิดจากอารมณ์ความไม่ต้องการอีกด้วย ซึ่งขยายความได้ว่า คนเราโดยทั่วไปย่อมไม่ต้องการทำงานที่ยุ่งยากหรือซับซ้อน ตากแดด ตากฝน ปีนป่าย เปรอะเปื้อน ยกของหนัก แต่งานก่อสร้างกลับมีลักษณะเช่นนั้น ดังนั้น แม้ว่าแรงงานก่อสร้างจะเข้าใจด้วยเหตุผลก็ตามว่าสิ่งที่ถูกต้องเป็นอย่างไร แต่ด้วยอารมณ์ที่ไม่ต้องการทำงานที่มีลักษณะข้างต้น จึงอาจละเลย หลีกเลี่ยงการแก้ไข หรือแม้แต่แก้ไขไปอย่างผิดหลักวิชาการก็เป็นได้ จึงเป็นเหตุที่จำเป็นต้องมีหัวหน้างานและตัวแทนเจ้าของโครงการคอยควบคุมงานก่อสร้างหรือตรวจสอบงานก่อสร้างให้เป็นไปอย่างถูกต้อง
โดยสรุป ผลกระทบทางตรงจากโครงการที่ขาดที่ปรึกษางานก่อสร้างหรือบริษัทรับควบคุมงานก่อสร้าง ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาต่าง ๆ ข้างต้น ในขณะที่เจ้าของโครงการไม่ทราบในระยะต้น จึงชำระค่าจ้างก่อสร้างตามปกติ นอกจากนี้ ถ้าหากเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แล้ว ยังมีผลกระทบทางอ้อมทำให้ต้นทุนการขายและการตลาดสูงขึ้นอีกด้วย
เพราะเหตุว่า การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเพื่อขายหรือให้เช่าก็ตาม เจ้าของโครงการย่อมมิได้เป็นผู้ใช้งานเอง หากแต่ผู้ใช้งานจริงคือลูกค้าของโครงการ ดังนั้น หากสินค้าที่ส่งมอบขาดคุณภาพและสร้างภาระให้แก่ผู้ใช้แล้ว ย่อมบั่นทอนชื่อเสียงของเจ้าของโครงการ นำไปสู่ต้นทุนการขายและการตลาดที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ