Article

23.06.2024

คอนเซาท์ก่อสร้างคือใคร กับความเข้าใจใน Latent Defects !

Byสรกฤตย์ พันธุมนตรี

เชื่อหรือไม่ว่าชีวิตของคนเรามักจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่มองเห็นมากกว่าสิ่งที่มองไม่เห็น แต่หากทบทวนช่วงชีวิตที่ผ่านมาให้ดีจะพบว่า เมื่อเกิดความผิดพลาดอะไรก็ตามที่แก้ไขได้ยากหรือไม่มีโอกาสได้แก้ไข ก็มักจะเป็นความผิดพลาดที่เกิดมาจากสิ่งที่มองไม่เห็น ซึ่งตนเองมองข้าม เช่น เกิดโรคร้ายที่รักษาไม่ได้หรือรักษาได้ยาก เกิดการหย่าร้าง หรืออาคารเกิดการพังทลาย

 

อันที่จริงปัญหาที่กล่าวข้างต้น อาจไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าแม้ว่า

  • คนเรามีตาทิพย์ มองเห็นว่าอวัยวะที่อยู่ภายในร่างกาย เริ่มมีอาการผิดปกติ และเข้ารักษาได้ทันท่วงที ก็อาจไม่ลุกลามจนหมดหนทางรักษา
  • ถ้าเรามีตาทิพย์มองเห็นว่า คู่ชีวิตที่ดูภายนอกว่ามีสง่าราศี มีฐานะที่ดี แต่จิตใจภายในมีนิสัยหลายอย่างที่เราไม่อาจยอมรับได้ เราก็คงจะไม่ตกลงปลงใจแต่งงานด้วยเป็นแน่
  • ถ้าเรามองเห็นว่าองค์อาคาร เช่น เสา คาน พื้น ที่เห็นผู้รับเหมาเทคอนกรีตปิดไปแล้ว ดูสวยงามดี แต่กลับมีจำนวนเหล็กที่ฝังอยู่ภายในไม่เป็นไปตามที่ผู้ออกแบบกำหนด หรือใช้เหล็กขนาดเท่ากันก็จริง แต่ชั้นคุณภาพต่ำกว่าที่กำหนด (มองเห็นเป็นเหล็กเหมือนกัน) หรือกระทั่งใช้คอนกรีตไม่ได้กำลังตามที่ออกแบบไว้ (แต่ก็มองเห็นว่าเป็นคอนกรีตเหมือนกัน) เราก็คงระงับการชำระเงิน และสั่งให้รื้อทุบเพื่อแก้ไข (ซึ่งการรื้อทุบเพื่อแก้ไขให้ดีนั้น มีโอกาสน้อยมาก เช่นเดียวกับกระจกที่แตกแล้ว นำมาเชื่อมกันใหม่)
  • ถ้าเรามีตาทิพย์มองเห็นว่า ทีมงานที่เราจะว่าจ้างมาร่วมโครงการนั้น มีศักยภาพไม่ถึง และจะก่อปัญหาที่พบในปัจจุบัน ซึ่งเกิดสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่นี้ จะเลิกจ้างก็หาคนมาทำต่อไม่ได้ เพราะไม่มีใครรับงานที่มีปัญหา ซึ่งแยกแยะการรับประกันผลงานไม่ได้ แต่จะให้ทำต่อก็อาจก่อปัญหาหนักกว่านี้ แน่นอนว่าเราก็คงไม่ตัดสินใจว่าจ้างมาร่วมทีม
  • ถ้าเรามีตาทิพย์มองเห็นว่า อาคารที่เราสร้างขึ้นมาโดยไม่มีตัวแทนมาตรวจดูขั้นตอนว่าถูกต้องตามแบบไหม ปลอดภัยหรือไม่ วันหนึ่งในช่วงชีวิตของทายาทที่สืบทอดกิจการของเรา เกิดการถล่มพังทลายลงมา หากย้อนเวลากลับมาได้ เราจะยังตัดสินใจแบบเดิมหรือไม่

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนปกทั่วไปย่อมไม่ได้มีตาวิเศษหรือตาทิพย์ที่จะมองเห็นเช่นนั้น และจากตัวอย่างที่ยกข้างต้น ผู้อ่านคงจะเห็นคล้อยตามกับผู้เขียนแล้วว่า สิ่งที่แฝงเร้นที่ตาเราไม่อาจมองเห็น มีความสำคัญมากเพียงใด ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาของชาวจีนที่เรียกส่วนที่มืด ซ่อนเร้น มองไม่เห็น (Unexposed Part) ของสิ่งต่างๆ ว่า “หยิน” และเรียกส่วนที่สว่าง เปิดเผย เห็นได้ชัด (Exposed Part) ว่า “หยาง” และกล่าวว่า ส่วนที่เป็นหยางจะคงอยู่ไม่ได้เลย หากปราศจากส่วนที่เป็นหยิน อีกทั้งส่วนที่เป็นหยิน หากเกิดข้อบกพร่องขึ้น จะส่งผลให้เกิดความเสียหายรุนแรงมากกว่าส่วนที่เป็นหยาง

 

ไม่ต่างจากงานก่อสร้างที่เรียกข้อบกพร่องที่เห็นชัดเจนเมื่อเกิดปัญหาขึ้นว่า Patent Defect และเรียกข้อบกพร่องที่ไม่สามารถตรวจพบได้ว่า Latent Defect (เหตุที่ตรวจไม่พบเพราะมีการกลบ/ปิด/บดบังไปแล้วนั่นเอง เช่น เทคอนกรีตปิดไปแล้ว กลบดินไปแล้ว เป็นต้น) และ Latent Defect หรืออีกนัยหนึ่งคือ สิ่งที่แฝงเร้นมองไม่เห็นนี้เอง ที่เป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้โครงการก่อสร้างต่างๆ มีปัญหาใหญ่ในขณะใช้งาน เช่น พังทลาย ทรุดตัว เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ (อายุการใช้งานสั้นกว่าที่ออกแบบไว้) และหากมีโอกาสได้แก้ไข (ไม่พังทลายไปเสียก่อน) ก็ไม่มีทางที่จะมีคุณภาพดีเทียบเท่ากับที่สร้างใหม่ให้ดีตั้งแต่แรกอย่างแน่นอน ทั้งยังต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงอีกด้วย

รูปคอนกรีตเป็นรูพรุนเหมือนรวงผึ้ง honeycomb
เสาคอนกรีตเกิด Honeycomb
รูปพื้นทางเดินทรุดตัว ที่จัดเป็น Latent Defect
พื้นทางเดินทรุดตัวเป็น Latent Defect ที่มักแสดงตัวในระหว่างการใช้งาน

เขียนมาถึงจุดนี้ ผู้เขียนขอนำเข้าประเด็นเรื่องที่ตั้งไว้คือ คอนเซาท์ก่อสร้างคือใคร ?  ที่ได้เกริ่นถึงบ้างแล้วในตอนยกตัวอย่างที่เกี่ยวกับงานก่อสร้าง คอนเซาท์ก่อสร้างก็คือทีมงานที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเจ้าของโครงการในการบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง

 

หากจะถามว่าทำไมเจ้าของโครงการจึงควรมีที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างหรือบริษัทรับควบคุมงานก่อสร้าง ก็เพื่อป้องกันปัญหาข้อบกพร่อง โดยเฉพาะ Latent Defects ที่กล่าวไว้ข้างต้น นอกจากนี้ ยังต้องเข้าใจว่าคนเราโดยทั่วไปมักจะมีอารมณ์อยู่เหนือเหตุผล สังเกตตนเองก็ได้ว่า เมื่อตัดสินใจซื้อสิ่งของใดๆ จริงๆ แล้วตนเองตัดสินใจด้วยเหตุผลหรืออารมณ์ชี้นำ และเพื่อให้เห็นภาพเชิงลึก ลองจินตนาการดูว่า ถ้าเราเดินข้ามไม้กระดานยาว ซึ่งวางบนพื้น เราเดินได้ปกติดีหรือไม่ แต่ถ้าเอาไม้กระดานแข็งแผ่นเดียวกัน วางพาดระหว่างหลังคาบ้าน 2 หลัง ดังเช่นภาพด้านล่าง แล้วเดินข้ามจากต้นไปปลาย เราแน่ใจไหมว่าเราจะไม่ตกลงมาเสียก่อน เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า คนเราโดยทั่วไปมักมีอารมณ์อยู่เหนือเหตุผล

อารมณ์มักอยู่เหนือเหตุผล

 

การทำธุรกิจก็เช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ที่ต้องการผลกำไรมากที่สุด ซึ่งย่อมมาจากรายได้มากที่สุด – รายจ่ายที่น้อยที่สุด ดังนั้นแล้ว คนเราจึงมีความเบี่ยงเบนที่จะพยายามเสนอราคาให้สูงเท่าที่จะเป็นไปได้ (เป็นสาเหตุว่าทำไมต้องมีการประกวดราคา) และพยายามที่จะควบคุมรายจ่ายให้น้อยที่สุด ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งที่ถูกวิธีและผิดวิธี

 

วิธีการที่ถูกวิธี คือ พยามใช้ให้ประหยัด เช่น ทาให้บางที่สุด เข้าแบบหล่อให้พอดี (ไม่ให้เปลืองคอนกรีต) ซึ่งถ้าไม่ได้รับการควบคุมก็อาจสร้างปัญหาในเวลาต่อมาได้ เช่น คอนกรีตติดแม่แบบ ทำให้ผิวกะเทาะ (Spalling) หรือขนาดชิ้นงานเล็กกว่าที่กำหนดไว้ ส่วนวิธีการที่ผิดวิธี ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับผู้รับเหมาบางราย คือ ลดจำนวนของเหล็กเสริมจากแม่แบบ (เพราะเมื่อเทคอนกรีตปิดไปแล้ว ก็ย่อมมองไม่เห็น) หรือใช้แรงงานที่ไม่มีทักษะ

 

สิ่งต่างๆ เหล่านี้นี่เอง ที่เป็นคำตอบในตัวเองว่า คอนเซาท์ก่อสร้างคือใคร จำเป็นแค่ไหนที่ต้องมี และทำไมบริษัทชั้นนำต่างๆ ไม่กล้าเสี่ยงที่จะให้ผู้รับจ้างก่อสร้างดำเนินงานไปโดยขาดการควบคุมงานก่อสร้าง 

 

ทั้งนี้ หากเป็นโครงการระยะสั้น ซึ่งกรณีการจ้างที่ปรึกษาส่งบุคลากรมาประจำ ก็อาจมีค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับมูลค่างาน เช่นนี้ อย่างน้อยก็ควรมีที่ปรึกษาคอย Monitor เข้ามาตรวจสอบงานเป็นระยะๆ เฉกเช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพประจำปีนั่นเอง เพราะเมื่อมีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้นจะได้แก้ไขกันได้ท่วงที แต่การใช้วิธี Monitor นี้ ควรจัดการงาน Pre-Construction ให้ดี ซึ่ง MKL แนะนำว่าอย่างน้อย 3 เรื่องนี้ควรมีคุณภาพ

  • มีแม่แบบที่ดี กล่าวคือ มีแบบและรายการประกอบแบบ ที่ไม่ตกหล่น ไม่ขัดแย้ง ไม่คลุมเครือ
  • มีผู้รับเหมาก่อสร้างที่ได้มาตรฐานระดับหนึ่ง พอไว้ใจได้ แต่วางใจไม่ได้
  • มีสัญญาที่รัดกุมไม่คลุมเครือ มีข้อตกลงเชิง Preventive คือป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา เช่น มีการวางหลักประกัน และมีข้อตกลงเชิง Corrective คือ ถ้ามีปัญหาแล้วมีทางออก เช่น ยกเลิกสัญญาได้ จ้างคนอื่นมาทำแทนได้

 

3 เรื่องที่ผู้เขียนกล่าวถึงนี้เอง ที่มักเป็นสาเหตุให้โครงการก่อสร้างต่างๆ มีปัญหา ได้แก่ ขอบเขตตกหล่น (Scope) คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน (Quality) ระยะเวลาล่าช้า (Time) และ/หรือต้นทุนบานปลาย (Cost) เพราะอะไร? ก็เพราะงานช่วง Pre-Construction นี้ ค่อนข้างเป็นนามธรรม ยังไม่ปรากฎเป้าหมายที่ต้องการ (แฝงเร้นอยู่) จะเห็นเป็นรูปธรรมก็เมื่อนำไปสร้างแล้วนั่นเอง ดังนั้น คนทั่วไปจึงไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร

 

ได้กล่าวกันถึงว่าคอนเซาท์ก่อสร้างคือใคร และทำไมโครงการก่อสร้างต่างๆ จึงต้องว่าจ้าง โดยอธิบายให้เห็นว่าคนเราไม่ได้มีตาทิพย์และมักมีอารมณ์อยู่เหนือเหตุผลแล้ว ผู้เขียนอยากอธิบายถึงบทบาทที่คอนเซาท์หรือปรึกษางานก่อสร้างที่ว่า บริหารและควบคุมงานก่อสร้าง สักเล็กน้อย

 

คำว่าบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง สามารถแยกย่อยออกเป็น บริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง (Project Management and Construction Supervision) หรือบริหารงานก่อสร้างและควบคุมงานก่อสร้าง (Construction Management and Construction Supervision)

 

หลายท่านอาจสงสัยว่าบริหารกับควบคุมงานทำไมต้องแยกกัน ผู้เขียนขออธิบายโดยยกตัวอย่าง จะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

 

ทุกท่านน่าจะรู้จักโครงการรถไฟฟ้ามหานคร หรือรถไฟฟ้าใต้ดินที่เราใช้กันอยู่ในกรุงเทพฯ ในสัญญามีการว่าจ้าง ผู้บริหารโครงการ (Project Management Consultant: PMC) ทีมหนึ่ง และว่าจ้างผู้ควบคุมงานก่อสร้าง (Construction Supervision Consultant: CSC) ซึ่งมีอยู่หลายทีม เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ไม่สามารถใช้บริษัทเดียวได้ ต้องแบ่งกันว่าทีมไหนจะดูส่วนไหน ดังเช่น CSC1 จะแบ่งส่วนหนึ่งไปควบคุมงานก่อสร้างชิ้นส่วนอุโมงค์ใต้ดินที่โรงงาน Precast

 

คอนเซาท์ก่อสร้างคือใคร

 

หมายเหตุ: MESC หมายถึงที่ปรึกษาควบคุมงานสัมปทาน (Mechanical & Electrical System Supervision Consultant) สัญญาที่ 6 

 

โดยบทบาทของที่ปรึกษาบริหารโครงการ จะเป็นทีมที่ดูภาพรวม โดยภายใต้ PMC แล้ว ยังมีหน่วยงานต่างๆ นอกจาก CSC อีก ซึ่ง PMC ก็จะเป็นทีมที่บริหารกำกับให้ทุกฝ่ายดำเนินงานตาม Master Schedule ให้โครงการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

นอกจากนี้ การแบ่งบทบาทของ PM และ CM โครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ โดยเฉพาะในต่างประเทศ จะแบ่ง PM ดูภาพใหญ่ และ CM จะจัดการเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างโดยตรง แต่โดยทั่วไป เมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในโครงการทั่วไป ซึ่งงานบริหารไม่ได้มีมากนัก ก็จะมอบหน้าที่การบริหารที่เกี่ยวกับงานก่อสร้างให้ PM เป็นฝ่ายที่ดูไปเสียเลย

 

อย่างไรก็ดี หน้าที่ของ Project Management Team นี้ บางโครงการเจ้าของโครงการก็ทำบทบาทนี้เอง เพราะบุคลากรก็มีความรู้ความเข้าใจในงานก่อสร้างพอสมควร ที่สุดแล้ว หลักว่าจะแบ่งว่าทีมไหนทำอะไร ก็เป็นเรื่องความเหมาะสมของแต่ละโครงการ

 

สำหรับบทส่งท้าย ที่จะไม่กล่าวถึง ก็อาจไม่สมบูรณ์ ก็คือ แล้วคอนเซาท์ก่อสร้างที่ดี ควรมีลักษณะอย่างไร ในความเห็นของผู้เขียน สรุปประเด็นได้ดังนี้

  • เนื่องจากคอนเซาท์ก่อสร้าง ทำหน้าที่กึ่งอาจารย์ ที่นอกจากจะต้องควบคุมผู้รับเหมาก่อสร้างให้ทำตามแม่แบบ (แบบและรายการประกอบแบบ) แล้ว ยังควรจะให้คำแนะนำสิ่งที่ดีกว่า มีประสิทธิภาพกว่า ให้ทั้งเจ้าของโครงการและผู้รับเหมาก่อสร้างได้ด้วย ดังนั้น จึงควรมีองค์ความรู้ด้านวิชาการที่ดี อีกทั้งควรมีประสบการณ์ที่เคยทำงานลักษณะนี้มาก่อนด้วย
  • เนื่องจากบทบาทหน้าที่สำคัญจะต้องทำการตรวจ ติ เตือน และไม่ทำเรื่องที่จวนตัว ดังนั้น บุคลากรจึงควรมีทัศนคติเชิงรุก (Proactive) ไม่ใช่เชิงรับ (Reactive)
  • และแน่นอนว่าจำนวนทีมงานของคอนเซาท์ ย่อมมีสัดส่วนน้อยกว่าจำนวนบุคลากรของผู้รับเหมาก่อสร้างหลายเท่าตัว ดังนั้น การที่คอนเซาท์จะควบคุมหรือตรวจสอบงานก่อสร้างได้ทั่วถึง ถ้าปราศจากซึ่งระบบที่ดีแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น บริษัทคอนเซาท์ก่อสร้างที่ดีจึงควรมีระบบที่ดีมีประสิทธิภาพ
  • และอีกหนึ่งประการสำคัญ คือ คอนเซาท์ก่อสร้างที่ดีจะต้องมีความซื่อสัตย์ มีความสุขได้โดยไม่อิงกับเงินเป็นสำคัญ หาไม่ การตัดสินใจก็จะลำเอียงเบี่ยงเบนไปตามอำนาจของผลประโยชน์

 

โดยสรุป ต่อคำถามที่ว่าคอนเซาท์ก่อสร้างคือใคร ใจความสำคัญก็คือ ทีมงานที่คอยรักษาผลประโยชน์ให้เจ้าของโครงการ โดยใช้หลักที่ว่า “ได้ในสิ่งที่ควรได้ และปกป้องในสิ่งที่ไม่ควรเสีย” ซึ่งในการสรรหานั้น ก็ควรระลึกถึงคุณสมบัติที่กล่าวไป 4 ข้อข้างต้น โดยใช้ใจที่เป็นกลางในการคัดเลือก “มองให้เห็นความจริง ที่เป็นจริงโดยธรรมชาติ”

back
417 views
Share