Article

17.09.2024

ซ่อมแซมให้ได้คุณภาพทำได้ไม่ง่ายนัก

Byที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง เอ็มเคแอล คอนซัลแตนส์

หลายท่านที่ว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง ปกติจะต้องมีการระบุเงื่อนไขในสัญญาว่า กรณีงานตามสัญญาเกิดข้อบกพร่องขึ้น ผู้รับจ้างจะต้องทำการซ่อมแซมแก้ไขให้เรียบร้อยด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง

 

แต่หลายท่านอาจไม่ทราบว่า การซ่อมแซมแก้ไขให้งานมีคุณภาพหรือได้มาตรฐานเสมือนงานสร้างใหม่ที่ไม่มีข้อบกพร่องนั้น ทำได้ไม่ง่ายนัก กล่าวคือ นอกจากจะต้องซ่อมแซมตามหลักวิชาการแล้ว ยังต้องอาศัยความชำนาญของแรงงานอีกด้วย
ยกตัวอย่างหลักวิชาในการซ่อมแซมงานคอนกรีต เช่น

  • การเลือกวัสดุที่ใช้ซ่อม มีหลักเบื้องต้นว่าจะต้องมีคุณสมบัติไม่ด้อยไปกว่าวัสดุเดิม ยกเว้นเป็นการซ่อมแซมเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะกิจ ซึ่งปัจจุบันวัสดุในท้องตลาดที่นำมาใช้ในงานซ่อมแซมมีหลากหลายชนิด เช่น Concrete, Polymer Modified Cement Mortar, Epoxy ซ่อมคอนกรีต
  • เทคนิคการติดตั้งวัสดุ มีหลากหลายวิธี เช่น Dry Packing, Patching, Grouting, Pouring, Injection ซึ่งจะต้องพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะสมกับวัสดุซ่อมและข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องด้วย
  • การเตรียมชิ้นงาน จะต้องสอดคล้องกับหลักวิศวกรรมและเงื่อนไขของวัสดุที่เลือกใช้ซ่อมด้วย

 

เพื่อให้มองเห็นภาพ สมมติว่าถ้าหากแรงงานขาดทักษะในการเทคอนกรีต จนทำให้ในที่สุดเสาของอาคารได้รับความเสียหาย เช่น เกิดโพรงอากาศ (Cavity) หรือเกิดรูพรุนเหมือนรวงผึ้ง (Honeycomb) โดยเฉพาะกรณีที่กินพื้นที่ขนาดใหญ่ ขั้นตอนการซ่อมแซมที่ถูกหลักวิชาการจะต้องดำเนินการอย่างน้อยตามภาพด้านล่าง

 

คอนกรีตเป็น honeycombing

คอนกรีตเป็นรูพรุนเหมือนรวงผึ้ง

 

Concrete Repair

 

จะเห็นได้ว่า การแก้ไขซ่อมแซมงานที่ได้รับความเสียหายแล้วนั้นหากไม่ได้รับการควบคุมดูแล โอกาสที่งานจะมีคุณภาพสูงเทียบเท่ากับงานที่สร้างใหม่ย่อมไม่ง่ายนัก และความไม่สมบูรณ์เหล่านี้จะเป็น Latent Defects ที่ก่อให้เกิดปัญหาตามมาในระหว่างการใช้งาน และบั่นทอนอายุการใช้งานของอาคารลงอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่จะกระทบไปถึงทายาทที่ใช้อาคารในอนาคตอีกด้วย 

 

ดังนั้น การบริหารจัดการเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาข้างต้น (Preventive Action) ตั้งแต่แรก จึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำมากกว่าการปล่อยให้เกิดปัญหาขึ้นแล้วจึงมาทำการแก้ไข (Corrective Action) และหากเจ้าของโครงการมั่นใจว่า 1. แบบก่อสร้างของตนไม่มีปัญหาสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ แบบตกหล่น แบบขัดแย้ง และแบบคลุมเครือ 2. ผู้รับเหมาที่คัดเลือกมาก่อสร้างมีศักยภาพเพียงพอ 3. สัญญาก่อสร้างมีความรัดกุมเพียงพอ ก็อาจเลือกใช้บริการ Construction Monitoring & Reporting แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรกำหนดความถี่ในการเข้าตรวจสอบน้อยจนเกินไป ทั้งนี้ ก็เนื่องด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง 

back
47 views
Share