Article
03.11.2023
สมการของเป้าหมายในการบริหารโครงการก่อสร้าง
ดังที่ได้กล่าวถึงเป้าหมายของโครงการแล้วว่า มีทั้งหมด 4 ด้านหลัก คือ ขอบเขต (Scope), คุณภาพของขอบเขตที่ต้องการ (Quality), เวลาที่ใช้เพื่อสร้างขอบเขตให้มีคุณภาพตามที่ต้องการ (Time) และต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป (Cost)
ทั้งยังกล่าวอีกว่า เป้าหมายทั้ง 4 ด้านนี้มีความสัมพันธ์กันอยู่คล้ายสมการ Scope x Quality = Time x Cost
เมื่อทราบดังนี้แล้ว เอ็มเคแอลขอกล่าวถึงแนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อให้โครงการบรรลุประสิทธิผลอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น
- ในการบริหารทุกขณะ จะต้องระลึกถึงเป้าหมายทั้ง 4 ด้านนี้อยู่เสมอ เมื่อใดที่ด้านในด้านหนึ่งถูกกระทบหรือเปลี่ยนแปลงไป จะต้องคิดถึงอีก 3 ด้านที่เหลือ ว่าได้รับผลกระทบอย่างไรหรือไม่ เช่นว่า หากงานที่ทำอยู่จำเป็นต้องมีการแก้ไขคุณภาพ (Scope คงเดิม) ก็ควรระวังว่า Time ของโครงการอาจล่าช้าออกไป และ Cost ก็อาจบานปลายจากที่กำหนดไว้
- ถ้าดูจากสูตรของผลตอบแทนโครงการ ที่เท่ากับ (Revenue – Cost) / Time จะเห็นได้ว่า Revenue ก็เป็นผลมาจาก Scope และ Quality สนองต่อความต้องการของลูกค้า จึงก่อให้เกิดรายได้ตามมา ยิ่งสูงก็ยิ่งดี ส่วน Time และ Cost เป็นส่วนที่ควรจำกัด ยิ่งต่ำยิ่งดี หากทำได้เช่นนี้ ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีก็ย่อมสูงตามไปด้วย
- ในการตั้งเป้าหมายทั้ง 4 ด้านนี้ เมื่อรู้แล้วว่ามีความสัมพันธ์กันเช่นนี้ ไม่ได้อิสระต่อกัน การตั้งเป้าหมายก็ควรพิจารณาให้สมเหตุสมผล เช่นว่า ถ้าต้องการ Scope เท่านี้ และ Quality ระดับนี้ ควรจะใช้ Time และ Cost เท่าไร เพราะถ้าหากบิดเบือนไปจากธรรมชาติ ก็เท่ากับว่าเป้าหมายเป็นไปไม่ได้ตั้งแต่แรก
- ถ้าสังเกตให้ดี แม้แต่ความต้องการทั่วไป ก็หนีไม่พ้นที่จะอยู่ใน 4 ด้านนี้ คือ ต้องการให้ Scope และ Quality มีมากที่สุดหรือแตกต่างไปจากเดิม เช่น ร้านกาแฟบางร้าน สร้างความแตกต่างโดยใส่ไข่ลงไปในกาแฟ จึงเกิดความแปลกใหม่ขึ้น ซึ่งเป็นการปรับที่ Scope นั่นเอง
- ถ้าหากต้องการสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้าหรือผู้บังคับบัญชา จะเห็นได้ว่า เป็นการปรับใน 4 ด้านนี้เช่นกัน เช่น ผู้บังคับบัญชาคาดหวังผลงานเพียงเกรด B แต่ผู้ใต้บังคับบัญชาส่งงานให้เกรด A (Quality) หรือส่งงานเร็วกว่าปกติ (Time)
โดยสรุป จะเห็นได้ว่าในการบริหารโครงการหรือแม้แต่การดำเนินชีวิตประจำวันก็ตามที ถ้าอยากประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานหรือในชีวิต ก็ขอให้ระลึกถึงเป้าหมายทั้ง 4 ด้านนี้อยู่เสมอ กล่าวคือ ตั้งไว้ให้ครบและสมเหตุสมผลก่อนทำ และขณะที่ทำ ก็ประเมินอยู่เสมอว่าได้รับผลกระทบอย่างไรหรือไม่ และแม้หลังทำเสร็จ ก็ควรประเมินผลงานด้วยเช่นกันว่า ทำได้ดีหรือด้อยกว่าที่ตั้งไว้อย่างไรหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อนำไปปรับปรุงครั้งหน้า