Article
03.11.2023
อย่าเปลี่ยนแปลงแบบในขั้นจัดทำเอกสารการก่อสร้าง

บางโครงการ เจ้าของโครงการต้องการเปลี่ยนแปลงแบบในขั้นตอนการจัดทำเอกสารการก่อสร้าง (Construction Documents) ซึ่งกว่าจะมาถึงขั้นนี้ได้ จะต้องผ่านกระบวนการออกแบบตั้งแต่ขั้นกำหนดแนวทางการออกแบบ (Programming) ขั้นแบบร่าง (Schematic Design) และขั้นแบบพัฒนา (Design Development) เรียกได้ว่าเริ่มจากหยาบไปสู่ละเอียด โดยมีการอนุมัติจากเจ้าของโครงการในทุกขั้น
แต่มักปรากฏว่า มีอยู่หลายโครงการที่ทำการเปลี่ยนแปลงแบบในขั้นจัดทำเอกสารการก่อสร้าง โดยเฉพาะการเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งาน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย หรือเปลี่ยนแปลงตามคำแนะนำของผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการ ซึ่งเข้ามาร่วมแสดงความเห็นในภายหลัง เช่น ซินแส ที่ปรึกษาการขายและการตลาด ฯลฯ
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ในกระบวนการออกแบบนั้น ผู้ออกแบบมิได้มีเฉพาะสถาปนิกแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ยังต้องมีวิศวกรแขนงต่าง ๆ ด้วย เช่น วิศวกรโครงสร้าง วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรสุขาภิบาล ฯลฯ กลุ่มวิศวกรเหล่านี้ จะนำแบบในขั้นพัฒนาที่ได้รับการอนุมัติแล้ว ไปจัดทำรายการคำนวณ เพื่อกำหนดคุณสมบัติของวัสดุด้านวิศวกรรม โดยในการคำนวณนี้มีขั้นตอนมากมาย จึงจะได้รายละเอียดออกมา
ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงแบบหลังจากที่ได้ทำการกำหนดคุณสมบัติวัสดุไปแล้ว กลุ่มวิศวกรดังกล่าวก็อาจมีความจำเป็นที่จะต้องคิดค่าบริการเพิ่ม เนื่องจากต้องใช้เวลาเพื่อเริ่มทำการคำนวณใหม่ ส่งผลให้ต้นทุนในการลงทุนสูงขึ้น
แต่หากการเปลี่ยนแปลงฟังก์ชั่นการใช้งานดังกล่าว เป็นการลดน้ำหนักของชิ้นส่วนต่าง ๆ ลง เช่น จากผนังก่ออิฐเป็นผนังเบา ก็อาจไม่จำเป็นต้องทำการคำนวณใหม่ แต่ผลเสียที่เกิดขึ้นคือ กำลังวัสดุจะถูกออกแบบไว้เกินความจำเป็น ทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างสูงโดยใช่เหตุ ด้วยเหตุนี้ เจ้าของโครงการจึงควรศึกษาความต้องการของตนเองให้รอบคอบ แล้วให้ข้อมูลผู้ออกแบบตั้งแต่ขั้น Programming ซึ่งในที่นี้รวมไปถึงงบประมาณค่าก่อสร้างอีกด้วย
ติดตามคอร์สเรียนอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง ซึ่งเปิดเผยเคล็ดวิชาที่ทำให้โครงการดำเนินไปอย่างราบรื่น จากทีมงานที่ปรึกษางานก่อสร้างเอ็มเคแอล คอนซัลแตนส์ (mkl consultants) ได้ในเร็วๆ นี้