Article
30.04.2024
As-Built Drawings ถ้าไม่ทำไว้ อาจเสียใจในภายหลัง
หลายท่านคงเคยกำหนดเป้าหมายในการทำงานของตนเอง โดยเป้าหมายนั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ท่านต้องการ ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงอาจไม่ตรงกับเป้าหมายทั้งหมดก็เป็นได้ ทั้งนี้ อาจเกิดจากสภาพปัจจัยต่างๆ ที่แปรปรวนไปในระหว่างการดำเนินงาน หรือความบกพร่องของการกำหนดเป้าหมายนั้น
การก่อสร้างก็เช่นกัน แบบที่นำไปใช้ก่อสร้างถือได้ว่าเป็นเป้าหมายชนิดหนึ่งที่เจ้าของโครงการต้องการ แต่เมื่อนำไปใช้ดำเนินงาน อาจพบกับเงื่อนไขหรืออุปสรรคต่างๆ ที่ไม่คาดคิด จนเป็นเหตุให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่พบ ผลที่สุดแล้ว หลังจากงานก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงอาจพบว่าสิ่งที่ก่อสร้างไปจริงไม่เหมือนกับที่กำหนดไว้เริ่มแรกทั้งหมด หรือหากอ้างอิงกับวงจร Deming Cycle (Plan-Do-Study-Act) ก็กล่าวได้ว่า สิ่งที่ Do ไม่เหมือนกับที่ Plan ไว้นั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น ในแบบก่อสร้างระบุให้ฐานรากตำแหน่งหนึ่งมีเสาเข็ม 1 ต้น แต่เมื่อตอกหรือเจาะลงไปจริง เสาเข็มต้นนั้นเกิดได้รับความเสียหายจากอุปสรรคที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งไม่อาจมองเห็นได้ โดยทั่วไป การแก้ไขจะทำโดยการเสริมเสาเข็มจำนวน 2 ต้นขนาบข้างเสาเข็มต้นที่เสียหาย ในที่สุดแล้วเสาเข็มที่ Plan ไว้ว่าในตำแหน่งนี้จะมี 1 ต้น ก็กลายเป็น 2 ต้น (ไม่นับต้นที่เสียหาย)
ต่อมา ในระหว่างที่เราใช้งานสิ่งก่อสร้าง เมื่อเกิดปัญหาขึ้นและจำเป็นต้องใช้ข้อมูลของสิ่งที่ก่อสร้างไปจริง เพื่อประกอบการวิเคราะห์หาสาเหตุจนนำไปสู่การกำหนดวิธีการแก้ไข แต่งานหลายส่วนได้กลบปิดไปหมดแล้ว หากไม่ได้มีการบันทึกข้อมูลที่มีการก่อสร้างจริงไว้ การแก้ไขปัญหาก็อาจเป็นไปได้ยากหรือไม่สามารถทำได้ รวมถึงเมื่อต้องการ Renovate อาคาร หากปราศจากข้อมูลของสิ่งที่ก่อสร้างไปจริง ก็อาจทำให้การออกแบบหรือการวางแผนงานคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ส่งผลให้งบประมาณบานปลายได้
ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้จำเป็นต้องมีการจัดทำแบบก่อสร้างจริง ซึ่งหมายถึง แบบที่ถูกเขียนขึ้นตามรายละเอียดที่ได้ก่อสร้างไว้จริง ที่นิยมเรียกทับศัพท์ว่า As-Built Drawing นั่นเอง นอกจากนี้ กรณีที่สิ่งก่อสร้างเข้าข่ายต้องมีใบรับรองการตรวจสอบอาคาร As-Built Drawing ยังมีประโยชน์ เพื่อใช้ประกอบการตรวจสอบอีกด้วย