Article
10.04.2024
BOQ คืออะไร ทำไมต้องใช้แนบสัญญา
ในการก่อสร้างโครงการใด ๆ ก็ตาม เรามักจะคุ้นหูหรือได้ยินฝ่ายที่ร่วมดำเนินโครงการพูดศัพท์เทคนิคคำนึงอยู่เสมอ คือคำว่า BOQ แล้ว BOQ ที่ว่านี้คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ไม่มีได้ไหม เอ็มเคแอลจะสรุปให้ฟัง ดังนี้
BOQ งานก่อสร้าง ย่อมาจาก Bill of Quantities แปลอย่างเป็นทางการว่า บัญชีแสดงปริมาณงานและราคา (ตามแบบของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย) แต่รูปแบบคำแปลนี้ยังมีแตกต่างกันไปอีก เช่น บัญชีรายละเอียดของราคา ซึ่ง BOQ งานก่อสร้างจะแสดงงานที่ต้องทำในโครงการออกเป็นหมวดหมู่ มีการระบุว่าจะใช้วัสดุอะไร ปริมาณเท่าไร ราคากี่บาท และค่าแรงในการทำงานเป็นเท่าใด
หมายเหตุ: ในวงการก่อสร้าง หากจะเรียกถึงเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่งไม่เป็นทางการนั้น นิยมเรียกกันโดยย่อหรือสั้นๆ เช่น เรียกใบรับรองการก่อสร้างฯ ว่าใบ อ.5 ตามรหัสแบบฟอร์มที่เขียนไว้ที่มุมขวาบน ดังนั้น Bill of Quantities จึงเรียกทับศัพท์ว่า BOQ นั่นเอง
สำหรับขั้นตอนในการจัดทำ BOQ งานก่อสร้างนั้น โดยทั่วไปผู้สำรวจปริมาณและราคา (Quantity Surveyor: QS) จะเป็นผู้จัดทำ ซึ่งจะมีทั้ง QS ของฝ่ายเจ้าของโครงการและ QS ฝ่ายผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งจัดทำเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน
- ฝ่ายเจ้าของโครงการ : จัดทำ BOQ เพื่อตรวจสอบต้นทุนค่าก่อสร้างว่าเป็นเท่าใด และอยู่ในงบประมาณที่กำหนดไว้หรือไม่ รวมถึงอาจใช้เป็นราคากลาง (Fair Price) ในการประกวดราคาคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง ตลอดจนใช้ประกอบการขอสินเชื่อกับธนาคารอีกด้วย
- ฝ่ายผู้รับเหมาก่อสร้าง : จัดทำ BOQ เพื่อประโยชน์ในการเสนอราคาค่าก่อสร้างในการประกวดราคา
จะเห็นได้ว่า ในเมื่อ BOQ งานก่อสร้างมีการจัดทำกันทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าหากเปรียบกับหลักของ Demand & Supply ฝ่ายเจ้าของโครงการก็เปรียบได้กับฝั่ง Demand ส่วนผู้รับเหมาเปรียบได้กับฝั่ง Supply ดังนั้น ราคาค่าก่อสร้างจะสรุปตกลงกันเป็นเท่าใด ก็อยู่ที่ว่าจุดตัดของ Demand กับ Supply ตัดกันที่จุดราคาใดนั่นเอง
โดยในขั้นตอนการจัดทำ BOQ งานก่อสร้าง จะต้องนำแบบ (Drawings) รายการประกอบแบบ (Specifications) และขอบเขตของงาน (Scope of Works) มาทำการถอดแบบ คิดปริมาณวัสดุ/อุปกรณ์ที่ใช้ทั้งหมด รวมไปถึงสืบราคาตลาดจากผู้จำหน่ายวัสดุ/อุปกรณ์ในพื้นที่ ระบุค่าแรงต่อหน่วย บวกค่าดำเนินการและกำไร จนท้ายที่สุดได้ราคาค่าก่อสร้างทั้งหมดออกมา
ทั้งนี้ หากจะสรุปประโยชน์ของ BOQ ออกมาเป็นข้อ ๆ สามารถสรุปได้เบื้องต้น ดังต่อไปนี้
- ใช้ในการตรวจสอบต้นทุนค่าก่อสร้าง
ก่อนที่เจ้าของโครงการจะก่อสร้างโครงการ ย่อมต้องการทราบว่าต้นทุนค่าก่อสร้างตามรูปแบบที่ตนเองต้องการ อยู่ในงบประมาณที่กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งในขั้นตอนของการออกแบบ ปกติแล้วเจ้าของโครงการควรแจ้งงบประมาณค่าก่อสร้างที่ตนเองมี ให้ผู้ออกแบบทราบตั้งแต่ต้น เพื่อที่ผู้ออกแบบจะทำการเลือกใช้วัสดุ/อุปกรณ์ให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มี โดยถ้าหากเป็นโครงการขนาดใหญ่ มักจะมีการว่าจ้างที่ปรึกษาด้านสำรวจปริมาณและราคา ซึ่งถือเป็น QS ฝ่ายเจ้าของ ประเมินราคาค่าก่อสร้างในทุกขั้นของการออกแบบ และในขั้นสุดท้าย จะมีการจัดทำ BOQ โดยละเอียดเพื่อตรวจเช็กว่าราคาค่าก่อสร้างยังคงอยู่ในงบประมาณที่กำหนดไว้หรือไม่
- ใช้เป็นราคากลางในการประกวดราคา
BOQ ที่จัดทำขึ้นในขั้นแรก สามารถนำมาใช้เป็นราคากลางของโครงการได้ ซึ่งหมายถึง ราคาค่าก่อสร้างที่สมเหตุสมผลและสามารถนำไปก่อสร้างได้จริง เพื่อใช้ประกอบการคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง ว่ารายใดเสนอราคาเหมาะสมที่สุด รายใดเสนอราคาตกหล่น รายใดเสนอราคาในบางรายการสูงเกินไป
ทั้งนี้ แม้ว่าผู้รับเหมาที่เราคัดเลือกเข้ามาร่วมประกวดราคา หรือเรียกว่าผ่านขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น (Pre-Qualification: PQ) มาแล้วก็ตาม กล่าวคือ มั่นใจได้ว่ามีศักยภาพเพียงพอในการก่อสร้างโครงการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าราคาค่าก่อสร้างตาม BOQ ที่เสนอมาจะถูกต้องเสมอไป ซึ่งถ้าหากเกิดกรณีผู้รับเหมาก่อสร้างคิด BOQ ผิดไปจากความเป็นจริง แล้วได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินงาน ก็อาจทำให้โครงการเกิดปัญหาการทุจริตในโครงการขึ้นได้
หมายเหตุ: ในขั้นตอนของการ PQ ปกติจะดำเนินการโดยที่ปรึกษางานก่อสร้าง ที่เจ้าของโครงการว่าจ้างมาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง
- ใช้เป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรองราคา
BOQ เจ้าของโครงการที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีประโยชน์ที่ใช้สำหรับเจรจาต่อรองค่าก่อสร้างกับผู้รับเหมาแต่ละรายที่ผ่านการคัดเลือกหรือเข้ารอบด้วย เช่นว่า เมื่อเปรียบเทียบกับ BOQ ราคากลางแล้ว อาจพบว่าบางรายการอาจมีราคาสูงเกินไป หรือพบว่าบางรายการตกหล่นไป ดังนี้แล้ว ก็สามารถเจรจาปรับฐานกับผู้รับเหมารายนั้น ๆ หรือเจรจาเพื่อปรับลดราคาลงได้
- ใช้เป็นฐานอ้างอิงในการชำระงวดงานค่าก่อสร้าง
ในโครงการที่มีการตกลงชำระค่าก่อสร้างแบบ Progress Payment ซึ่งหมายถึงการชำระตามความก้าวหน้าของงาน (โดยทั่วไปจะกำหนดให้ชำระเป็นรายเดือน) กล่าวคือ ทำได้แค่ใด ก็ชำระแค่นั้น ปกติแล้วจะตกลงกันระหว่างเจ้าของโครงการกับผู้รับเหมาว่า ให้อ้างอิงราคาต่อหน่วยจาก BOQ ที่แนบสัญญา ซึ่งทางที่ปรึกษางานก่อสร้างหรือบริษัทรับควบคุมงานก่อสร้าง ก็จำเป็นต้องใช้ BOQ งานก่อสร้างที่แนบสัญญานี้ ในการตรวจสอบ เพื่อออกใบรับรองการชำระเงิน (Payment Certificate) ให้เจ้าของโครงการพิจารณาอนุมัติเช่นกัน
- ใช้เป็นฐานในการอ้างอิงราคางานเพิ่มลด
ในการดำเนินโครงการก่อสร้าง เจ้าของโครงการมักจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างไม่มากก็น้อย และเมื่อมีการปรับแบบจากที่ตกลงกันไว้เดิม จึงทำให้เกิดมีงานเพิ่ม/ลดตามมา ดังนั้น เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ทั้งฝ่ายเจ้าของโครงการและผู้รับเหมาก่อสร้าง จึงมักมีการตกลงกันว่า ในการคิดราคางานเพิ่มลด ให้อ้างอิงราคาต่อหน่วยใน BOQ ที่แนบสัญญาจ้างนั่นเอง
- ใช้ในการวางแผนค่าใช้จ่ายของโครงการ
นอกจากประโยชน์ที่กล่าวมาแล้ว BOQ งานก่อสร้างยังสามารถนำมาประกอบการวางแผนการเงิน ทั้งฝ่ายเจ้าของโครงการที่ต้องเตรียมเงินเพื่อชำระค่าจ้างก่อสร้าง หรือฝ่ายผู้รับเหมาที่ต้องเตรียมเงินไว้สำหรับจ่ายค่าวัสดุ/อุปกรณ์ ค่าแรงงานอีกด้วย อีกทั้งเมื่อ BOQ มีการแยกออกเป็นรายการ จึงสามารถนำมาใช้เป็น Checklist รายการที่ต้องจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งฝ่ายผู้รับเหมาและฝ่ายเจ้าของโครงการที่ตัดวัสดุ/อุปกรณ์มาจัดซื้อเองด้วย
- ใช้เป็นฐานในการอ้างอิงการจัดทำ VE (Value Engineering)
เนื่องจาก BOQ งานก่อสร้าง จะแสดงรายการงานออกเป็นหมวดหมู่ดังที่กล่าวแล้ว จึงสามารถนำมาใช้วิเคราะห์ได้ว่า งานใดหรือหมวดหมู่ใดมีสัดส่วนราคาเป็นเท่าไรต่อราคาค่าก่อสร้างทั้งหมด ดังนั้น หากต้องการปรับลดราคาค่าก่อสร้างลง ควรจะปรับลดที่หมวดหมู่ใด ซึ่งกระบวนการปรับลด ก็อาจเป็นการปรับเปลี่ยนที่ฟังชั่นการใช้งาน (Function) หรือปรับที่ต้นทุนของปัจจัยการผลิต (Cost) หรือก็คือกระบวนการวิศวกรรมคุณค่าหรือเรียกสั้นๆ ว่าการทำ VE นั่นเอง
หมายเหตุ: ทั่วไปแล้ว การทำ VE สามารถทำได้ตลอดระยะเวลาของโครงการ แต่ควรเน้นหนักไปที่การทำระหว่างการออกแบบโครงการ เพราะหากทำหลังจากการออกแบบขั้นสุดท้ายแล้วเสร็จ แล้วมาทำการปรับเปลี่ยนแบบในภายหลัง จะทำให้องค์ประกอบของอาคารเกิดปัญหาการขาดความกลมกลืนสอดคล้อง บั่นทอนความสวยงาม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อของลูกค้า ส่งผลให้แม้จะลดค่าก่อสร้างลงได้ แต่รายได้ก็อาจลดตามไปด้วย
โดยสรุปแล้ว จะเห็นได้ว่า BOQ มีประโยชน์ในงานก่อสร้างค่อนข้างมาก แต่ในการจัดทำ BOQ นั้น ถือว่าเป็นงานที่ละเอียดอ่อน ถ้าหากมีการคิดคำนวณตกหล่นหรือผิดไป ก็สามารถสร้างปัญหาให้โครงการได้มาก เช่น ถ้าหากผู้รับเหมาก่อสร้างคิด BOQ ตกหล่นในรายการที่สำคัญ และด้วยงานก่อสร้างที่เข้าร่วมประกวดราคาเป็นสัญญาจ้างเหมา ก็อาจต้องรับผิดชอบสร้างโครงการให้สำเร็จตามสัญญา เพราะเหตุว่าแบบก่อสร้างมีระบุไว้ครบ แต่ผู้รับเหมาคิดตกหล่นเอง นอกจากนี้ ในโครงการที่มีการจ้างที่ปรึกษางานก่อสร้าง เพื่อบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง ที่ปรึกษาเองก็จำเป็นจะต้องใช้ BOQ ที่ตกลงแนบสัญญา ใช้เป็นหนึ่งในเอกสารอ้างอิงในการตรวจสอบงานด้วย