Article

18.07.2024

Defect งานก่อสร้าง ประเภทไหนที่ต่อให้ตรวจก็อาจไม่พบ

Byที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง เอ็มเคแอล คอนซัลแตนส์

ในการก่อสร้างโครงการใดๆ ก็ตาม เจ้าของโครงการอาจมีความเข้าใจว่า เมื่องานก่อสร้างแล้วเสร็จ และได้ให้ผู้รับจ้างก่อสร้างแก้ไขข้อบกพร่องหรือ Defect งานก่อสร้างต่างๆ ที่ตรวจพบในขั้นตอนการรับมอบทั้งหมดแล้ว สิ่งก่อสร้างก็น่าจะอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี จึงทำให้ละเลยหรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับการบำรุงรักษาเท่าที่ควร

 

ความเข้าใจข้างต้นอาจไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากข้อบกพร่องในงานก่อสร้างต่างๆ นั้น หากจัดแบ่งแล้วจะสามารถแยกออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

 

|  ข้อบกพร่องที่ปรากฏชัดเจน (Patent Defect)

เป็นข้อบกพร่องหรือ Defect งานก่อสร้าง ที่หากได้รับการตรวจสอบอย่างถูกวิธี จะสามารถตรวจพบได้ โดยหากเป็นกรณีตรวจรับอาคาร อาจพบ Patent Defects เช่น ปูกระเบื้องผิดขนาด ติดตั้งโคมไฟไม่ครบจำนวน ผนังไม่ได้ดิ่ง เฉดสีผิดไปจากที่ตกลงกันไว้ ฯลฯ หรือหากเป็นกรณีการตรวจงานในระหว่างการก่อสร้าง อาจพบ Patent Defects เช่น เหล็กเสริมเกิดสนิมขุม คอนกรีตเป็นรูพรุนเหมือนรวงผึ้ง (Honeycomb) หรือเป็นโพรง (Cavity) ที่มองเห็น ฯลฯ ซึ่งถ้าข้อบกพร่องที่ตรวจพบได้เหล่านี้ถูกละเลย ไม่ได้รับการแก้ไข หรือแก้ไขอย่างผิดวิธีและถูกปิดบังซ่อนเร้นไว้ ก็จะกลายเป็นข้อบกพร่องที่แฝงเร้น (Latent Defect) ดังจะกล่าวถึงถัดไป

 

|  ข้อบกพร่องที่แฝงเร้น (Latent Defect)

เป็นข้อบกพร่องหรือ Defect งานก่อสร้าง ที่มีอยู่ แต่ไม่สามารถตรวจพบได้ในขณะที่ทำการตรวจสอบ ส่วนใหญ่จะแสดงตัวเมื่อใช้งานไปแล้วระยะหนึ่ง ยกตัวอย่างปัญหาที่มักพบ หลังจากที่ใช้งานอาคารไปแล้วระยะหนึ่ง เช่น น้ำรั่วซึมบริเวณข้อต่อของท่อประปา นอตคลายตัว รอยแตกร้าวตามมุมประตู/หน้าต่างจากการไม่มีเสาเอ็น/ทับหลัง การทรุดตัวที่มากผิดปกติของถนน ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้มักจะไม่พบในขณะที่ตรวจรับมอบอาคาร ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โครงการก่อสร้างต่างๆ จำเป็นจะต้องมีระยะเวลาที่ผู้รับจ้างรับประกันผลงานตนเอง ซึ่งปกติหมายถึง ถ้ามีข้อบกพร่องปรากฏขึ้นในช่วงนี้ จะต้องรับผิดชอบเข้ามาแก้ไข ซึ่งนิยมเรียกทับศัพท์แตกต่างกัน เช่น Guarantee Period, Maintenance Period, Defects Liability Period

defect งานก่อสร้าง สนิมเหล็ก
Latent Defect กรณี Concrete Covering ไม่เพียงพอ
defect งานก่อสร้าง โพรงใต้กระเบื้อง
Latent Defect กรณีมีโพรงอากาศใต้กระเบื้อง

จากการแบ่งประเภทของ Defect งานก่อสร้างข้างต้น จะเห็นได้ว่า Defects ที่ตรวจพบในช่วงของการรับมอบสิ่งก่อสร้างมักจะเป็น Patent Defects แต่ในระหว่างการใช้งานยังอาจปรากฏ Latent Defects ที่แฝงเร้น รวมถึงการเสื่อมสภาพจากการใช้งานตามปกติของวัสดุ/อุปกรณ์ต่างๆ หากมิได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ก็จะขยายตัว ลุกลาม สร้างผลกระทบรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดเมื่อหลีกเลี่ยงการแก้ไขไม่ได้แล้ว ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก หรืออาจพบว่าไม่สามารถทำการแก้ไขได้เลยก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังทำให้อายุการใช้งานของอาคารลดลงอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

 

ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้การบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยหรือหลีกเลี่ยง และเป็นสาเหตุให้ในช่วงก่อสร้างจำเป็นต้องว่าจ้างบริษัทรับควบคุมงานก่อสร้าง หรือคอนเซาท์งานก่อสร้าง เพื่อมาควบคุมป้องกันไม่ให้เกิด Defect งานก่อสร้างที่กล่าวมานั่นเอง

back
851 views
Share