Article

13.06.2024

พิธีวางศิลาฤกษ์/ ยกเสาเอก/ ก่อฤกษ์/ ลงเสาเข็มต้นแรก ต่างกันอย่างไร ?

Byที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง เอ็มเคแอล คอนซัลแตนส์

โดยปกติแล้ว ที่ดินที่จะนำมาก่อสร้างโครงการใดๆ ก็ตาม มักติดกับเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นมาเป็นระยะเวลาพอสมควร กิจกรรมในช่วงระหว่างการก่อสร้างจึงอาจสร้างผลกระทบต่อเพื่อนบ้านไม่มากก็น้อย เช่น มีเสียงดัง เกิดฝุ่นละออง ความสกปรก แรงสั่นสะเทือน กลิ่นอันไม่พึงประสงค์ ความเสียหายแก่ทรัพย์สินของเพื่อนบ้าน

 

ดังนั้น เป็นเหตุให้ก่อนที่จะเริ่มงานก่อสร้างใดๆ ผู้บริหารหน่วยงานก่อสร้างควรเข้าไปแนะนำตัว สร้างมิตรภาพให้เกิดขึ้น ตลอดจนขออภัยไว้ล่วงหน้ากรณีเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ดังที่กล่าวมา พร้อมทั้งให้ข้อมูลสำหรับการติดต่อไว้ด้วย ต่อมา หากมีปัญหาเกิดขึ้น เพื่อนบ้านจะติดต่อมายังเราก่อนที่จะไปร้องเรียนต่อหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ และด้วยมิตรภาพที่ได้สร้างไว้เรื่องใหญ่ก็อาจกลายเป็นเรื่องเล็ก

 

อย่างไรก็ดี นอกจากเพื่อนบ้านซึ่งเป็นสิ่งที่มองเห็นแล้ว ตามวัฒนธรรมประเพณีที่สืบกันมายังมีความเชื่อว่า ในที่แห่งหนึ่งย่อมมีสิ่งที่มองไม่เห็นปกปักรักษา หรืออาศัยมาก่อน หรือแม้กระทั่งเป็นเจ้าของเดิมในที่แห่งนั้น กิจกรรมในการก่อสร้างก็อาจรบกวนท่านได้ไม่ต่างจากเพื่อนบ้าน ดังนั้น จึงควรทำการขออนุญาต ขมาลาโทษ ตลอดจนถือโอกาสขอพรให้โครงการหรือธุรกิจประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของพิธีกรรมการบวงสรวงต่างๆ ในการก่อสร้าง

 

พิธีกรรมต่างๆ อาจมีจำนวนมากน้อยหรือมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามความเชื่อและความศรัทธาของเจ้าของโครงการหรือนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงตำราที่ผู้ประกอบพิธีแต่ละท่านยึดถือ แต่เมื่อประมวลพิธีกรรมซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันในช่วงเริ่มงานก่อสร้าง มักพบเห็นกันใน 4 รูปแบบ ได้แก่ พิธีลงเสาเข็มต้นแรกพิธียกเสาเอก พิธีก่อฤกษ์ และพิธีวางศิลาฤกษ์ ซึ่งทั้งสี่พิธีนี้เกิดมาจากหลักของโบราณกาลอันเดียวกัน คือ ตามตำราโบราณกล่าวไว้ว่า “พื้นดินที่เราอาศัยอยู่นี้ตั้งอยู่เหนือนาคพิภพ อยู่ในความอารักขาของพญานาคเป็นสำคัญ ส่วนพระภูมิเจ้าที่นั้น เป็นผู้อารักขาพื้นที่บนดิน ดังนั้น หากจะทำอะไรที่เป็นการกระทบกระเทือนส่วนใด ก็ควรขออนุญาตและขมาลาโทษสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลอารักขาไว้ด้วย”

 

แต่เนื่องจากการก่อสร้างในสมัยโบราณแตกต่างจากสมัยนี้ กล่าวคือเมื่อก่อนไม่มีการลงเสาเข็มเหมือนในปัจจุบัน ด้วยอาคารส่วนใหญ่ก็เป็นไปเพื่อการพักอาศัย ทำมาจากไม้ มีน้ำหนักที่ใช้งานไม่มาก ตลอดจนเทคโนโลยีก็ไม่ทันสมัยเหมือนยุคนี้ ดังนั้น จุดเริ่มต้นในการกระทบกระเทือนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อารักขาใต้ดิน จึงเป็นเวลาเริ่มขุดดินทำฐานรากเพื่อตั้งเสา และจุดเริ่มกระทบกระเทือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อารักขาเหนือดิน คือ เวลาเริ่มตั้งเสาต้นแรก (เสาเอก) เป็นเหตุให้สมัยก่อนจะเคร่งครัดใน 2 พิธี คือ พิธีขอขมาลาโทษต่อพญานาคก่อนการขุดดิน และพิธีกรรมยกเสาเอก

 

ส่วนยุคสมัยนี้ เทคโนโลยีมีความก้าวหน้า น้ำหนักของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ทั้งน้ำหนักที่ใช้งานรวมกันแล้วมีน้ำหนักมาก จึงจำเป็นต้องมีการลงเสาเข็มด้วย ดังนั้น จุดเริ่มกระทบกระเทือนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อารักขาใต้ดิน จึงเป็นเวลาเริ่มลงเสาเข็มต้นแรก (เว้นแต่บางกรณีที่มีการขุดดินก่อน) ส่วนจุดเริ่มกระทบกระเทือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อารักขาเหนือดิน ปัจจุบันมีการดัดแปลงถือเอาเวลาที่มีรายละเอียดต่างกัน ดังต่อไปนี้

 

|  ถ้าเป็นการก่อสร้างบ้านเรือน:

ก็ยังคงถือเอาเวลาที่เริ่มตั้งเสาต้นแรกเช่นเดิม ต่างก็แต่ว่าสมัยปัจจุบันจะใช้เวลายกโครงเหล็กของเสาเอกเป็นสำคัญ ยกเว้นเสาที่ใช้เป็นเสาคอนกรีตหล่อสำเร็จหรือมีการใช้เสาไม้ ก็อาจถือเอาเวลายกเสาได้ เมื่อเป็นดังนี้ ก็หมายความว่า ปัจจุบันเมื่อมีการก่อสร้างบ้านเรือน ก็ยังคงนิยมประกอบพิธียกเสาเอกเช่นแต่ครั้งโบราณกาล

 

|  ถ้าเป็นอาคารขนาดใหญ่:

เสาที่ใช้ก็ย่อมมีขนาดใหญ่ไปด้วย ถ้าจะถือเอาเวลายกเสาเช่นบ้านเรือนทั่วไป แม้ว่าจะยกเพียงโครงเหล็กก็ตาม ก็ยังมีน้ำหนักไม่น้อยและขัดข้องไม่สะดวกเท่าที่ควร และด้วยเวลาเร่งรัดที่ต้องทำให้ทันตามฤกษ์ยาม ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายตามมา ดังนั้น จึงนิยมถือเอาเวลาก่อฤกษ์ (ถ้าเป็นพิธีหลวงเรียกว่า ก่อพระฤกษ์) ซึ่งเป็นเวลาเตรียมพื้นหลุมของเสาเอกเป็นสำคัญ จึงเกิดเป็นพิธีก่อฤกษ์หรือก่อพระฤกษ์ขึ้นมา

 

|  ถ้าเป็นอาคารสาธารณะที่มีขนาดใหญ่:

เช่น ที่ทำการของภาครัฐ ในขั้นตอนการก่อฤกษ์จะมีการวางแผ่นหินที่จารึกดวงฤกษ์ลงไป พร้อมทั้งอาจมีบันทึกจดหมายเหตุหรือคำปณิธานในการจัดสร้าง และบางแห่งอาจมีการใส่เงินตราที่ใช้ลงไปด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงประวัติที่มาของอาคารสถานที่นั้นๆ จึงเกิดเป็นพิธีวางศิลาฤกษ์ขึ้นมา ซึ่งกล่าวกันว่า อาคารหลังแรกของไทยที่มีการวางศิลาฤกษ์ คือ วังบูรพาภิรมย์เมื่อปี พ.ศ. 2419

 

โดยพิธียกเสาเอก ก่อฤกษ์ และวางศิลาฤกษ์ จะมีขั้นตอนที่คล้ายคลึงกัน (เข้าใจว่า 2 พิธีสุดท้ายดัดแปลงมาจากพิธียกเสาเอก เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย เพียงแต่มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน) โดยจะต้องมีการเตรียมหลุมของ
เสาเอก มีการใช้เข็มพิธี 9 ต้น ทำมาจากไม้มงคล 9 ชนิด ตอกตามลำดับลงไป และใช้แผ่นอิฐมงคลอีก 9 แผ่นก่อลงไปในหลุม แต่หากเป็นพิธีวางศิลาฤกษ์ ก็จะมีการวางแผ่นศิลาฤกษ์ทับลงไปอีกด้วย
หมายเหตุ: บางตำราระบุว่า ถ้ามีการใช้เข็มพิธีแล้วก็ไม่ต้องมีพิธีลงเสาเข็มต้นแรก เพราะได้ใช้เข็มพิธีเป็นเคล็ดแทนแล้ว (ถ้าเป็นทางตะวันตกถือว่ายึดหลักการของ Sympathetic Magic) แต่บางตำราก็ระบุว่า ควรทำทั้งสองพิธี เนื่องจากมีจุดประสงค์แตกต่างกัน จึงขึ้นอยู่กับเจ้าของโครงการจะพิจารณาหรือเจ้าพิธีกรรมจะกำหนด

 

 

เข็มพิธีทำมาจากไม้มงคล 9 ชนิด

เข็มพิธีทำมาจากไม้มงคล 9 ชนิด

 

อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุที่การประกอบทั้งพิธีเพื่อขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อารักขาใต้ดิน และพิธีขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อารักขาเหนือดิน อาจส่งผลให้งานก่อสร้างเสี่ยงต่อความล่าช้าไปจากเป้าหมาย เพราะแต่ละพิธีย่อมต้องมีการรอ
ฤกษ์ยาม ซึ่งเปรียบเสมือนเวลาหรือจังหวะที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ดีถึงดีที่สุด ในสมัยก่อนการรอฤกษ์ยามคงมิได้เป็นปัญหาเท่าใดนัก เพราะต้นทุนที่สัมพันธ์กับเวลาที่เสียไปต่ำกว่าในยุคสมัยนี้มาก ทั้งการใช้งานส่วนใหญ่ก็เป็นไปเพื่ออยู่อาศัยเป็นหลัก ดังนั้น เมื่อยุคปัจจุบัน เวลามีค่าสูงเช่นนี้ ผู้ประกอบการหลายรายจึงมักเลือกเพียงพิธีใดพิธีหนึ่งและบวงสรวงขอขมาร่วมกันไปทีเดียวแต่บางรายก็เคร่งครัดในการทำทั้งสองพิธีตามหลักที่โบราณกาลได้วางไว้

 

ทั้งนี้ หากจะกล่าวถึงผลกระทบต่องานก่อสร้างที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกใช้พิธีกรรมข้างต้น สามารถอธิบายได้เบื้องต้น ดังนี้

 

|  พิธีกรรมลงเสาเข็มต้นแรก

พิธีนี้อาจส่งผลกระทบต่องานก่อสร้างไม่มากเท่าใดนัก เนื่องจากงานหลักหลายส่วนยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ ผู้รับจ้างก่อสร้างจึงยังไม่ได้จัดแรงงานเข้ามาเต็มกำลัง เพียงแต่รอการระบุตำแหน่งของเสาเข็มที่จะทำการลงเป็นต้นแรก
และฤกษ์จากพราหมณ์ หลังจากนั้นจึงลงเสาเข็มตามฤกษ์ที่กำหนดไว้ และดำเนินการก่อสร้างต่อไป

 

เสาเข็มที่ผ่านการทำพิธี ก่อนทำการตอกตามฤกษ์ที่กำหนดไว้

เสาเข็มที่ผ่านการทำพิธี ก่อนทำการตอกตามฤกษ์ที่กำหนดไว้

 

|  พิธียกเสาเอก / ก่อฤกษ์ / วางศิลาฤกษ์

พิธีนี้มีความเสี่ยงที่จะกระทบต่องานก่อสร้างได้มากกว่าพิธีลงเสาเข็มต้นแรก เนื่องจากปกติการยกเสาเอกหรือก่อฤกษ์หรือวางศิลาฤกษ์นั้น งานก่อสร้างได้ดำเนินการไปแล้วระดับหนึ่ง เช่น มีการลงเสาเข็มไปแล้ว ดังนั้นแรงงานต่างๆ จึงมักถูกระดมเข้ามาเพื่อเตรียมผูกเหล็ก เทฐานราก เทคานคอดินเพื่อเร่งงานให้แล้วเสร็จตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง ดังนั้น กรณีที่พราหมณ์ไม่สามารถหาฤกษ์ได้ในระยะสั้น หรือเกิดเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามฤกษ์ อาจทำให้งานก่อสร้างที่กำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่องหยุดชะงักลง โดยเฉพาะการก่อสร้างชั้นที่ 2 ไม่อาจดำเนินการได้หากเสาชั้นที่ 1 ยังไม่ได้ถูกก่อสร้างขึ้น และผลกระทบเนื่องจากกรณีนี้ ผู้รับจ้างอาจสามารถใช้สิทธิ์ขอขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปได้ตามจำนวนวันที่สูญเสียไป

 

จากผลกระทบข้างต้น ทำให้ปัจจุบันมีการดัดแปลงพิธีกรรมเพื่อให้สะดวกต่อการก่อสร้างโครงการ ไม่ให้เกิดปัญหากระทบกับการดำเนินงานก่อสร้าง และทั้งเพื่อให้สะดวกต่อผู้เข้ามาร่วมในพิธี เช่น พิธียกเสาเอก มีการก่อสร้างหรือยกเสาต้นอื่นๆ ไปก่อน ยกเว้นแต่เฉพาะเสาเอกที่ต้องรอฤกษ์ หรือในพิธีวางศิลาฤกษ์ก็มีการสมมติหลุมของเสาเอกเพื่อเอาฤกษ์ ซึ่งเอ็มเคแอลไม่ขอกล่าวรายละเอียดในที่นี้


โดยสรุป พิธีกรรมที่ผู้เขียนนำมากล่าวข้างต้นนั้น ถือเป็นเพียงกลุ่มพิธีกรรมที่นิยมใช้ในช่วงเริ่มงานก่อสร้างเท่านั้น แต่พิธีกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการยังคงมีอีกหลายพิธี เช่น ตั้งศาลพระภูมิ ตั้งศาลเจ้าที่ เปิดใช้อาคาร ฯลฯ แต่เนื่องจากพิธีส่วนนี้ไม่ได้มีผลกระทบต่อการก่อสร้างเท่าใดนัก จึงขอไม่นำมากล่าวถึงในที่นี้

อย่างไรก็ดี พิธีต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้น จากที่เคยพบเห็นมา นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายอาจให้ความสำคัญในระดับที่แตกต่างกันไปตัวอย่างเช่น เจ้าของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มหาชนท่านหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ในการตั้งศาลพระภูมิ/เจ้าที่ของทุกโครงการที่พัฒนาขึ้นมาจะต้องเชิญร่างทรงท่านหนึ่งมาเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมเสมอ ถ้าร่างทรงท่านนี้แนะนำให้ทำอย่างไร ก็จะทำตามโดยไม่มีข้อขัดแย้ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแรงศรัทธาที่มีค่อนข้างมาก

back
796 views
Share