Article

29.03.2025

มีเพียง 4 สาเหตุที่ทำให้อาคารถล่ม !

Byสรกฤตย์ พันธุมนตรี

อาคารหรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ จะถล่มหรือพังทลาย หรือแม้แต่เกิดข้อบกพร่อง ที่เรียกทับศัพท์ว่า “Defect” ซึ่งแยกออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ข้อบกพร่องที่ปรากฏชัดเจน (Patent Defect) และข้อบกพร่องที่แฝงเร้น (Latent Defect) ล้วนเกิดมาจาก 4 สาเหตุเท่านั้น โดยอาจเกิดจากเหตุใดเหตุหนึ่ง หรือหลายสาเหตุประกอบกัน สรุปได้ดังต่อไปนี้

 

|  เหตุจากปัญหาในการออกแบบ (Design)

ก่อนสิ่งก่อสร้างใดๆ จะปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม ล้วนต้องเริ่มต้นมาจากการออกแบบ ซึ่งผู้ออกแบบจะเป็นผู้นำข้อมูลจากเจ้าของโครงการ เช่น ความต้องการทั้งในด้าน Functions และ Emotions ฯลฯ มาทำการออกแบบตามหลักวิชาการ จนสุดท้ายได้แม่แบบที่ใช้ในการก่อสร้างขึ้นมา ฉะนั้น หากแม่แบบที่ได้มีการใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง/ไม่ครบถ้วน หรือมีการออกแบบผิด
หลักวิชาอย่างมีนัยสำคัญ ก็ย่อมทำให้อาคารเกิดปัญหาตามมา เช่น

  • ออกแบบคลังสินค้า โดยคำนวณน้ำหนักสิ่งของที่นำมาสต๊อกน้อยกว่าความเป็นจริงไปมาก ทำให้ระหว่างการใช้งาน พื้นเกิดการแตกร้าว แสดงอาการให้เห็นว่าน้ำหนักสิ่งของที่นำมาสต๊อกสูงผิดปกติกว่าที่ออกแบบไว้
  • ออกแบบฐานรากโดยไม่มีผลการสำรวจชั้นดิน ทำให้ระหว่างการก่อสร้างหรือระหว่างการใช้งานอาคารมีความเสี่ยงที่จะเกิดการวิบัติหรือเกิดการทรุดตัวที่มากผิดปกติ
  • ออกแบบผิดข้อกฎหมาย ด้วยผู้ออกแบบอาจไม่เคยออกแบบอาคารประเภทนี้มาก่อน จึงไม่ทราบว่ามีกฎหมายอะไรควบคุมบ้าง เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ หลายโครงการก็ประสบปัญหาจนจำเป็นต้องมีการรื้อทุบเพื่อแก้ไข

 

แนวทางในการป้องกันปัญหานี้ เจ้าของโครงการควรศึกษาและสรุปความต้องการของตนเองอย่างรอบคอบ และควรให้ความสำคัญในการคัดเลือกผู้ออกแบบที่มาร่วมโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรมีประสบการณ์ในงานประเภทนั้นๆ ด้วย มิเช่นนั้นก็อาจขาดความรู้ในข้อกฎหมายที่ควบคุมอยู่และ/หรือไม่เข้าใจวงจรชีวิตของอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ

 

|  เหตุจากงานก่อสร้างด้อยคุณภาพ (Construction)

การก่อสร้างเป็นการนำเอา “แม่แบบ” ข้างต้นมาทำให้เป็นความจริงขึ้นมาโดยใช้ทรัพยากรต่างๆ มาดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดไว้ ฉะนั้น หากทรัพยากรต่างๆ ขาดคุณภาพ หรือขั้นตอนในกระบวนการก่อสร้างผิดหลักวิชาการ ข้อบกพร่องต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น และอาจปรากฏในช่วงการก่อสร้างและ/หรือในช่วงการใช้งาน สามารถแยกหัวข้อได้ดังต่อไปนี้

  • Man (บุคลากร) เช่น ขาดแรงงานที่มีฝีมือ ทำให้ก่อสร้างไม่ตรงตามแบบ ส่งผลให้เกิดปัญหาในระหว่างการใช้งานอาคาร เป็นต้นว่าวางเหล็กเสริมโดยมีระยะหุ้มของคอนกรีตน้อยกว่าที่ผู้ออกแบบกำหนดไว้ อากาศจึงซึมผ่านเข้าไปสัมผัสเหล็กจนเกิดสนิม ลุกลามจนดันคอนกรีตแตกออกมา

 

อาคารพังทลาย

เหล็กเสริมคอนกรีตมีระยะหุ้ม (Covering) ไม่เพียงพอ

 

  • Material (วัสดุ/อุปกรณ์) เช่น ใช้ Material ไม่ตรงตามแบบ/ข้อกำหนด หรือด้อยคุณภาพ เป็นต้นว่า ใช้เหล็กที่มีสนิมขุม ส่งผลให้กำลังรับน้ำหนักของอาคารน้อยกว่าที่ผู้ออกแบบกำหนดไว้ และบั่นทอนอายุการใช้งานของอาคาร
  • Machine (เครื่องมือ/เครื่องจักร) เช่น ใช้เครื่องจักรที่ด้อยคุณภาพ ขาดการบำรุงรักษา กระทั่งเกิดการวิบัติจนสร้างความเสียหายต่อตัวอาคาร ตัวอย่างที่เห็นได้บ่อยคือ กรณี Tower Crane ขาดการบำรุงรักษา จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตตามมา หรือขณะเทคอนกรีต นั่งร้านที่ค้ำยันแบบหล่อด้อยคุณภาพ จนเกิดการวิบัติทำให้คอนกรีตพังทลายลงมา ซึ่งแม้จะซ่อมแซมอย่างไรก็ยากที่จะมีคุณภาพเทียบเท่ากับการทำให้ดีตั้งแต่แรก
  • Method (วิธีการทำงาน) เช่น ไม่มีการจัดทำ Shop Drawings ก่อนทำการก่อสร้าง ทำให้ทั้งทีมงานที่ทำการก่อสร้างและผู้ตรวจสอบงานไม่มีรายละเอียดที่เพียงพอในการทำงานในบทบาทหน้าที่ของตน ก่อให้เกิดปัญหาการรื้อทุบเพื่อทำการแก้ไขตามมา
  • Process (กระบวนการก่อสร้าง) เช่น จัดลำดับการทำงานผิดขั้นตอนเป็นต้นว่ามีการตอกเสาเข็มขนานกับการเทคอนกรีตชิ้นส่วนสำเร็จรูปต่างๆ ที่หน้างาน ทำให้คอนกรีตที่ก่อตัวแล้วได้รับแรงสั่นสะเทือนจากการตอก ส่งผลให้กำลังรับน้ำหนักเสียไป

 

แนวทางเบื้องต้นในการป้องกันปัญหานี้ไม่ต่างจากกรณีการออกแบบควรสรรหาหรือคัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน เพราะแม้ว่าแม่แบบจะทำได้สมบูรณ์ดีเพียงใด แต่หากผู้นำไปก่อสร้างขาดศักยภาพที่จะผลักดันให้เป้าหมายบรรลุผล สิ่งก่อสร้างก็จะปรากฏข้อบกพร่องตามมาไม่มากก็น้อย

 

|  เหตุจากการเสื่อมสภาพของวัสดุ/อุปกรณ์ (Deterioration)

แม้ว่าจะมีแม่แบบและมีผู้รับจ้างก่อสร้างที่มีคุณภาพแล้วก็ตาม แต่เมื่อสิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบให้เจ้าของโครงการใช้งานแล้ว วัสดุ/อุปกรณ์ต่างๆ ย่อมต้องเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ มีอายุการใช้งานที่จำกัด ซึ่งอายุการใช้งานนี้ยังแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิดของวัสดุ/อุปกรณ์อีกด้วย  หากวัสดุ/อุปกรณ์เสื่อมสภาพจนเกิดเป็นข้อบกพร่องขึ้น และไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ก็จะลุกลามขยายตัวไปบั่นทอนให้วัสดุ/อุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้รับความเสียหายหรือเกิดข้อบกพร่องตามไปด้วย โดยอัตราการเสื่อมสภาพจะยิ่งพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น ถ้าหากอยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่มีสภาวะรุนแรง และ Original Defects (ข้อบกพร่อง ที่เกิดจากความผิดพลาดในการออกแบบหรือก่อสร้าง) ไม่ได้รับการแก้ไขหรือแก้ไขไปอย่างผิดวิธี เช่น แก้ไขที่อาการ (Symptom) ไม่ได้แก้ที่สาเหตุ (Cause)

 

อาคารพังทลาย

วัสดุ/อุปกรณ์ต่างๆ ย่อมต้องเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา

 

แนวทางการป้องกันปัญหานี้ จึงควรบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างในระหว่างการใช้งานอย่างสม่ำเสมอและถูกหลักวิชาการ เพื่อให้ยังคงสภาพที่สามารถใช้งานได้ดีและมีความปลอดภัย

 

|  เหตุจากการถูกทำให้ได้รับความเสียหาย (Damaged)

ในกระบวนการออกแบบหรือแม้แต่การดำเนินงานก่อสร้าง จะต้องมีการกำหนดสมมติฐานของปัจจัยต่างๆ ที่จะมากระทำ เช่น ในการออกแบบจะต้องตั้งสมมติฐานของน้ำหนักที่ต้องการใช้สอย แรงลม ฯลฯ โดยสมมติฐานส่วนหนึ่งได้ข้อมูลมาจากเจ้าของโครงการ อีกส่วนหนึ่งได้มาจากหลักวิชาการ (หลักวิชานี้ หมายรวมไปถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง)

 

แต่ถ้าในสภาพความเป็นจริง ระหว่างการใช้งานหรือระหว่างการก่อสร้างปัจจัยที่เกิดขึ้นจริงสูงผิดปกติหรือมีปัจจัยอื่นที่ไม่คาดคิดมากระทำเกินกว่าขีดจำกัดที่มี ข้อบกพร่องต่างๆ ก็ย่อมเกิดขึ้นตามมา เช่น

  • ใช้งานอาคารผิดประเภท เช่น ขออนุญาตใช้เป็นที่พักอาศัยแต่ความเป็นจริง นำไปเก็บของที่มีน้ำหนักมาก ก็มักจะส่งผลให้
    อาคารเกิดปัญหาการแตกร้าวและอาจวิบัติได้

 

อาคารพังทลาย

พื้นอาคารที่รับน้ำหนักสูงกว่าสมมติฐานไปมาก ทำให้เกิดปัญหาการแตกร้าว

 

 

  • เกิดภัยธรรมชาติ ทำให้อาคารถูกแรงกระทำเกินกว่ากำลังที่รับได้ เช่น เกิดแรงลมจากพายุ แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ส่งผลให้อาคารอาจเกิดการพังทลาย

 

แนวทางการป้องกันปัญหานี้ จึงควรพยายามควบคุมให้สิ่งที่เกิดขึ้นจริงอยู่ภายใต้สมมติฐาน เช่น ใช้งานสิ่งก่อสร้างไม่เกินน้ำหนักที่ออกแบบไว้ หรือไม่ก็ควรกำหนดสมมติฐานในการออกแบบให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นหัวข้อแรกที่กล่าวไปแล้ว


โดยสรุปแล้ว จะเห็นได้ว่า อาคารหรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ จะใช้งานได้ดีก็ต่อเมื่อสามารถวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดข้อบกพร่องต่างๆ ในกลุ่มที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงวางข้อกฎหมายและระบบต่างๆ ขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ เช่น

  • รัฐกำหนดให้ต้องมีการขออนุญาตก่อสร้าง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่า จะสร้างอะไร นำไปใช้ประโยชน์อะไร ถูกต้องตามข้อกฎหมายหรือไม่
  • รัฐกำหนดให้ในระหว่างการใช้งาน อาคารบางประเภทที่สามารถสร้างผลกระทบต่อคนหมู่มากได้ ต้องจัดให้มีการตรวจสอบสภาพอย่างสม่ำเสมอ และส่งผลการตรวจสอบให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นพิจารณาออกใบรับรองการตรวจสอบอาคารให้ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าอาคารนั้นๆ ยังคงมีความปลอดภัยในการใช้งานเป็นสำคัญ
  • เจ้าของโครงการว่าจ้างที่ปรึกษางานก่อสร้างคอยกำกับดูแลผู้รับจ้างก่อสร้าง ให้ดำเนินงานตามแม่แบบและหลักวิชาการ
  • เจ้าของโครงการว่าจ้างทนายความให้ตรวจร่างสัญญาว่าจ้างผู้ร่วมดำเนินโครงการอีกชั้นหนึ่ง เพื่อเป็นหลักประกันส่วนหนึ่งว่าเจ้าของโครงการจะได้งานที่มีคุณภาพ
back
45 views
Share