Article

24.12.2023

กรอบความคิดของเราเป็นอย่างไร

Byสรกฤตย์ พันธุมนตรี

เชื่อหรือไม่ว่า คนเรามองสิ่งเดียวกัน แต่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน ซึ่งหลายท่านอาจเรียนรู้เรื่องนี้มาบ้าง แต่เอ็มเคแอลขอนำเรื่องนี้มาขยาย เพื่อที่จะสรุปประโยชน์หรือคติสอนใจ ให้ทุกท่านนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

 

ตัวอย่างอมตะที่รู้จักกันดี ก็คือมุมมองที่มีต่อน้ำครึ่งแก้ว ที่หลายท่านตีความแตกต่างกัน ซึ่งสามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ

 

กรอบความคิดที่ต่างกัน ทำให้ตีความแตกต่างกัน

 

  • คนแรกตีความว่า “น้ำมีแค่ครึ่งแก้ว” กล่าวคือ ความรู้สึกที่มีต่อน้ำนั้น น้อยกว่าสิ่งที่มีอยู่จริง คนที่มองลักษณะนี้ เข้าข่ายเป็นคนที่มองอะไรในแง่ลบ (Negative Thinking) เป็นคนที่มักจะมีความ “กลัว” ฝังอยู่ในใจเป็นพื้นฐาน จะทำอะไรก็จะระแวงระวังมากกว่าปกติ จนอาจทำให้เป็นคนไม่ค่อยลงมือทำอะไร

 

  • คนที่สองตีความว่า “น้ำมีตั้งครึ่งแก้ว” กล่าวคือ ความรู้สึกที่มีต่อน้ำนั้น มากกว่าสิ่งที่มีอยู่จริง คนที่มองลักษณะนี้ เข้าข่ายเป็นคนที่มองอะไรในแง่บวก (Positive Thinking) เป็นคนที่มักจะมีความ “กล้า” เป็นพื้นฐาน ทำอะไรก็มักจะลงมือไปก่อน ปัญหาต่าง ๆ ค่อยว่ากันอีกที ซึ่งถ้ามีมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดความประมาท จนเกิดผลเสียหายได้

 

  • คนที่สามตีความว่า “น้ำมีอยู่ครึ่งแก้ว” กล่าวคือ ความรู้สึกที่มีต่อน้ำนั้น เท่ากับสิ่งที่มีอยู่จริง คนที่มองลักษณะนี้ เข้าข่ายเป็นคนที่มองอะไรด้วยใจเป็น “กลาง” มีเหตุมีผล เรียกว่า เห็นความจริงที่เป็นจริงโดยธรรมชาตินั่นเอง ฉะนั้น จะตัดสินใจลงมืออย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะตัดสินใจโดยปราศจากอคติ ผลสำเร็จจึงมักเกิดขึ้นกับคนประเภทนี้

 

ที่กล่าวมาข้างต้น สรุปก็คือ คนเราอาจมองเห็นสิ่งหนึ่งหรือภาพหนึ่ง แต่ตีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ ก็เพราะถูกหล่อหลอมมาจากสิ่งแวดล้อม ที่แตกต่างกันไป พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ชีวิตที่ผ่านมา ถูกหล่อหลอมให้เห็นลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ แตกต่างกันไป

 

ตัวอย่างการมองเห็นสิ่งเดียวกัน แต่ตีความแตกต่างกันนั้น มีให้เห็นมากมาย เช่น

  • เลข 8: ถ้าในมุมมองของคนไทย จะตีความว่าเป็นเลขไม่ค่อยเป็นมงคล เพราะเป็นตัวแทนของดาวราหู แต่ถ้าเป็นคนจีนจะมองว่าเป็นตัวเลขที่เป็นมงคล เพราะพ้องกับคำที่มีความหมายดีในภาษาจีน สังเกตได้จาก ถ้าคนจีนมาซื้อคอนโดมิเนียมในประเทศไทย จะเลือกซื้อชั้น 8 เป็นหลัก
  • สีขาว: ถ้าเป็นมุมมองของคนไทย ก็ถือว่าเป็นสีที่เป็นมงคล/บริสุทธิ์ แต่ถ้ามุมมองของคนจีนก็จะเห็นตรงกันข้าม
  • หรือยกตัวอย่างอีกเรื่องก็คือ ถ้าเราพยายามทำงานบางอย่างเต็มที่แล้ว แต่งานกลับไม่สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ เป็นเช่นนี้หลายครั้งหลายหน บางท่านอาจคิดว่าตัวเองประสบความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ถ้าเป็น Thomas A. Edison กลับคิดว่า “I have not failed. I’ve just found 10,000 ways that won’t work.”

 

อย่างไรก็ดี ถ้าลองจัดลำดับคนที่ประสบผลสำเร็จในงานต่างๆ จะเห็นได้ว่า เรียงลำดับดังนี้

 

  • คนที่คิดแบบ Negative จะประสบผลสำเร็จช้าที่สุด ทั้งนี้เป็นเพราะมักจะมีความกลัวดังที่กล่าวแล้ว คนประเภทนี้จะมองเห็นอุปสรรคมากกว่าโอกาส เห็นจุดอ่อนมากกว่าจุดแข็ง จึงยากที่จะลงมือทำอะไร เมื่อไม่ลงมือทำ ค่าใช้จ่ายย่อมไม่มี และความสำเร็จก็ไม่มีเช่นกัน

 

  • คนที่คิดแบบ Positive จะประสบผลสำเร็จได้ง่ายกว่าคนคิดแบบ Negative เพราะกล้าที่จะลงมือทำไม่ชักช้า คนประเภทนี้จะมองเห็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค เห็นจุดแข็งมากกว่าจุดอ่อน ซึ่งเมื่อลงมือทำ ก็ย่อมมีโอกาสที่จะได้รับผลสำเร็จ ไม่ช้าก็เร็ว แต่คนประเภทนี้ก็มักจะเสียค่าใช้จ่าย ไปกับการลองผิดลองถูก

 

  • คนที่คิดแบบ Logical จะประสบความสำเร็จง่ายที่สุด เพราะทำทุกสิ่งไปตามกฎของธรรมชาติ ไม่ลำเอียงไปตามความชอบหรือความชัง ที่เกิดขึ้นในใจ ทำให้มักเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด คนประเภทนี้จะมองเห็นทั้งโอกาสและอุปสรรค จุดแข็งและจุดอ่อน อย่างวางใจเป็นกลาง

 

โดยสรุป จะเห็นได้ว่า คนเราอาจตีความสิ่งที่เห็นแตกต่างกัน แม้จะมองภาพเดียวกันก็ตาม ทั้งนี้ เป็นเพราะสิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมมาแตกต่างกัน ซึ่งสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง หลายท่านก็ไม่อาจเลือกได้ ดังนั้น เราจึงควรพยามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เท่าที่พอจะทำได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม คนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น สรุปความได้ว่า ต้องเป็นคนที่ทำสอดคล้องกับกฎของธรรมชาติมากที่สุดนั่นเอง


ติดตาม Knowledge Series: เมื่อที่ปรึกษาเผยหลักวิชาบริหารการก่อสร้าง ซึ่งเปิดเผยเคล็ดวิชาในการบริหารและควบคุมงานก่อสร้างให้ประสบผลสำเร็จ เขียนโดยทีมงานที่ปรึกษางานก่อสร้างเอ็มเคแอล คอนซัลแตนส์ (mkl consultants) ได้แล้ววันนี้

back
144 views
Share